อำเภอสองพี่น้องก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2439 เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ในมณฑลนครชัยศรี มีหลวงเทพบุรี (เอี่ยม สถาปิตานนท์)เป็นนายอำเภอคนแรก สำหรับเทศบาลเมืองสองพี่น้องได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบลสองพี่น้อง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2478 และได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลเมืองสองพี่น้อง เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 อำเภอสองพี่น้องเป็นอำเภอที่เก่าแก่ที่ประวัติยืนยาวมากว่าร้อยปี และชุมชนย่านการค้าที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอำเภอสองพี่น้องก็คือ “ ตลาดบางลี่ ”
บางลี่ เป็นเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางน้ำที่สำคัญจากชุมชนต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะเส้นทางลำเลียงของป่าจากจังหวัดกาญจนบุรีมายังอำเภออู่ทองและต่อมาถึงตลาดบางลี่ ซึ่งสามารถติดต่อไปได้ไกลถึงงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และเชื่อมโยงไปถึงท่าเตียน กรุงเทพมหานคร ชุมชนบางลี่เกิดจากกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วอพยพจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในบริเวณตลาดบางลี่ ซึ่งถือกันว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิดีเลิศในการทำมาหากิน ชาวจีนแต้จิ๋วกลุ่มนี้ได้ทำมาหากินจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ จึงได้ตั้งชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “ หมังหลี่ ” ที่มีความหมายว่าไปแสวงโชคในที่ที่ไกลจากบ้านเกิดจนเจอแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจที่ได้ดั้นด้นหนีความอดอยากจากบ้านเกิดจนสามารถสร้างฐานะเป็นปึกแผ่นได้ และคนรุ่นต่อ ๆ มาได้เรียกเพี้ยนกันไปจนเป็น บางลี่ ในปัจจุบัน
ตลาดบางลี่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะของอำเภอสองพี่น้อง อยู่ติดกับคลองสองพี่น้องทางฝั่งด้านทิศใต้ ในฤดูน้ำหลากช่วงเดือนกันยายน–ตุลาคมของทุกปี น้ำในคลองสองพี่น้องจะไหลเข้าท่วมตลาดบางลี่ และท่วมขังนาน 4–6 เดือน ทำให้บ้านเรือนร้านค้าในตลาดบางลี่มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครคือ เป็นเรือนไม้สองชั้นเรียงติดต่อกันเว้นด้านหน้าบ้านทั้งชั้นล่างและชั้นบนเป็นระเบียงเปิดเชื่อมต่อกันสำหรับใช้เป็นทางเดินไปมาหาสู่กันในหน้าน้ำ ส่วนในหน้าแล้งหรือที่ชาวบางลี่เรียกกันว่า “หน้าแห้ง” จะใช้พื้นที่ชั้นล่างค้าขาย เมื่อถึงหน้าน้ำชาวตลาดบางลี่ก็จะอพยพขนข้าวของขึ้นไปทำมาค้าขายกันบนชั้นสอง แล้วมาไปมาหาสู่ติดต่อกันโดยใช้เรือและสะพานไม้ที่ทางเทศบาลสร้างไว้ให้ และเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำลดชาวตลาดบางลี่ก็จะอพยพกลับลงมาค้าขายที่ชั้นล่างเหมือนเดิม วนเวียนกันอย่างนี้เป็นประจำทุกปีจนได้รับการเรียกขานว่า ตลาดสองฤดู ที่มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย และตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2520 เป็นต้นมา เทศบาลตำบลสองพี่น้องได้เริ่มปรับปรุงถนนสายต่าง ๆ ในเขตเทศบาลให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทำให้ตลาดบางลี่ในปัจจุบันไม่ต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมอีกต่อไป ภาพชีวิตของชาวตลาดบางลี่เมืองสองฤดูก็ได้เลือนหายไป คงเหลือไว้เพียงในภาพถ่าย และอยู่ในความทรงจำของชาวบางลี่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น